วันอาทิตย์ที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ครั้งแรกของการตัดสินใจเรียน มสธ. วิทยาการคอมพิวเตอร์ (ตอนที่ 1)



นั่งคิดอยู่นานพอสมควร  ว่าจะเลือกสาขาไหนดี  เพราะตอนนี้มีงานประจำที่ต้องทำด้วย  ระหว่าง  บริหารธุรกิจ(การเงิน)  เทคโนโลยีการผลิตอุตสาหกรรม  และวิทยาการคอมพิวเตอร์  

หลังคิดวิเคราะห์อยู่นาน  ตอนกรอกใบสมัครผมเลือกสาขาเทคโนโลยีการผลิตอุตสาหกรรม  แต่ลองคิดทวนดูอีกครั้ง....ผมก็ตัดสินใจสมัครสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์  ซึ่งเหมาะสมกับผมในตอนนี้มากกว่า

ผลเหตุที่เลือกสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ เนื่องการทำงานทุกวันนี้ของผม  ต้องใช้คอมพิวเตอร์ช่วยทำงานทั้งสิ้น  ไม่ว่าจะเป็นทำงานด้านเอกสาร  ด้านวิศวกรรมควบคุมเครื่องจักรและระบบไฟฟ้า  การคำนวณและประมวลผลสัญญาณ  การออกแบบ  การติดต่อสื่อสาร  ทุกอย่างใช้คอมพิวเตอร์เป็นตัวกลางในการจัดการงานทั้งสิ้น  

ส่วนสาขาเทคโนโลยีการผลิตอุตสาหกรรมไว้เรียนหลังจากเรียนสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์แล้ว  เพราะว่าผมก็ทำงานอยู่ในอุตสาหกรรมอยู่แล้ว  ความรู้ด้านเทคโนโลยีการผลิตอุตสาหกรรม....อาศัยการเรียนรู้จากงานจริงไปพลาง ๆ ก่อน  เมือโอกาสเหมาะสมก็จะได้เรียนสาขานี้ต่อไป  และเมื่อนั้น....ผมจะได้ใช้ความรู้ด้านคอมพิวเตอร์มาประยุกต์ใช้งานกับด้านเทคโนโลยีการผลิตอุตสาหกรรม  คงเกิดสิ่งใหม่ ๆ อย่างน้อยก็สักหนึ่งชิ้นงาน

ตอนนี้ผมก็เริ่มสมัครเรียนแล้ว  ส่วนบรรยากาศการเรียนจะเป็นอย่างไรนั้น  ผมจะมาเล่าให้อ่านกันอีกครั้งนะครับ   เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับใครหลาย ๆ คนที่กำลังสนใจเรียนรู้ด้วยตนเอง  และข้อมูลด้านนี้หาอ่านยากมาก  ไม่ค่อยเห็นใครเขียนบทความให้เราได้ศึกษา  เรียนรู้คร่าวๆ ก่อนเลย

ส่วนแนวทางการศึกษา  มสธ.  ผมเอามาจากหน้าเพจแห่งหนึ่งครับ  ลองอ่านดูนะครับ  เผื่อมีกำลังใจ

https://th-th.facebook.com/RwmTawMsthWichaXekThekhnoloyiKarPhlitXutsahkrrm/posts/314348535367684


เทคนิคการเรียนกับมสธ

ก่อนอื่นต้องขอ ออกตัวก่อนนะครับว่าไม่ได้เป็นผู้รู้หรือ ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการศึกษา แต่มีเพื่อนหลายท่านถามมาเกี่ยวกับเทคนิคการเรียน เรียนอย่างไรให้ประสบความสำร็จ และต้องทำอย่างไร ผมถือว่าถ่ายทอดประสบการณ์ที่ได้รับรู้มาละกันนะครับ

เริ่มแรกที่สมัครเรียน แต่ละท่านก็คงจะมีจุดประสงค์แตกต่างกัน เช่นอยากปรับต่ำแหน่งหน้าที่การงาน อยากเพิ่มคุณวุฒิ อยากเปลี่ยนงาน อยากได้ปริญญาสักใบ หรือเรียนเป็นเพื่อนลูก เรียนอยากให้ลูกเห็นว่าพ่อหรือแม่ก็จบปริญญานะ แต่ละคนก็มีจุดมุ่งหมายของตัวเอง ส่วนใหญ่นักศึกษาของมสธ จะอยู่ในวัยที่ทำงานแล้ว และไม่มีเวลามากพอที่จะเรียนในมหาวิทยาลัยปิดทั่วไป ก็เลยมาลงตัวที่ มสธ เพราะเป็นมหาวิทยาลัยแห่งเดียวในประเทศไทยที่เป็นมหาลัยเปิดที่สมบูรณ์แบบ ขนาดเรียนในเรือนจำยังได้เลย 

( ถ้าได้ย้ายไปอยู่ในนั้นชั่วคราวก็ไม่มีปัญหาในการเรียนอย่างต่อเนี่อง …อิอิ แต่คงไม่มีใครอยากเข้าไป ) 

ขอเข้าเรื่องเลยนะครับ

เทคนิคที่1 เราต้องสร้างแรงจูงใจในการเรียน เรียนเพื่ออะไร จะได้อะไรในการเรียนสาขานี้ เรียนจบแล้วจะเป็นอย่างไร แรงจูงใจ จะทำให้เราอยากที่จะเรียน เมื่อเกิดปัญหาหรืออุปสรรค์ จะทำให้เราไม่ท้อถอยง่ายๆ

เทคนิคที่ 2 การมีเพื่อนหรือกลุ่ม จะทำให้เรารู้สึกว่าเราไม่โดดเดี่ยวในการเรียน เคยมีความรู้สึกนี้มั้ยครับ ตอนที่สมัครเรียนใหม่ๆ เราจะเรียนยังไง สมัครเป็นเดือนแล้วหนังสือทำไมยังไม่ได้  ได้หนังสือแล้วทำไมเยอะจัง แล้วจะอ่านยังไง  ข้อสอบจะออกแนวไหน แม้กระทั่งสอบแล้วรู้สึกทำข้อสอบไม่ได้เลยคงเรียนไม่ไหว รู้สึกโดดเดี่ยว ไม่ไหวแล้ว (เลิกเรียนดีกว่า) การที่เรามีกลุ่มจะทำให้ขจัดปัญหาแบบนี้ มีเพื่อนปรึกษากัน อาจจะส่งสรุปให้กัน หรือให้คำแนะนำว่าข้อสอบที่เคยออกมาออกแนวไหน ถึงจะตกเราก็จะมีความรู้สึกที่ดี คือมีเพื่อนตกหลายคนไม่เป็นไร เรามาซ่อมด้วยกัน (หัวอกเดียวกัน) อาจจะมีเมล์ของเพื่อนไว้ติดต่อ หรือมาโพสข้อความไว้ในบอร์ดบ้างบางครั้ง ส่งข้อความดีๆให้เพื่อนบ้างบางโอกาส

เทคนิคที่ 3 จัดตารางเวลาเรียนให้ตนเอง และทำให้ได้ ข้อนี้อาจจะทำลำบากหน่อย แต่ถ้าอยากเรียนให้จบเราก็ต้องทำ ถือคติที่ว่าตนเป็นที่พึ่งแห่งตน อาจจะกำหนดว่าอาทิตย์นี้เราจะเรียนรู้วิชาอะไรบ้าง หน่วยไหนบ้าง กำหนดเวลาว่างของเราและเวลาที่ใช้ในการอ่านหนังสือให้ตรงกัน ถ้าไม่รู้วันหยุดของตัวเองแน่นอนก็ให้กำหนดว่าหยุดแล้วจะอ่านหน่วยไหน และทำให้ได้ เมื่อทำได้แล้วอาจจะให้รางวัลกับตัวเองบ้างเล็กๆน้อยๆ(หลายครั้งที่ผมกำหนดกับตัวเองว่าถ้าอ่านหน่วยนี้จบ ผมจะเล่นเกม แล้วก็เล่นจริงๆนะ ก่อนสอบวิศวะพื้นฐานช่วงเช้ามืดยังเปิดซีดี อัสนี - วสันต์ ร้องคาราโอเกะตามไปด้วยเสร็จแล้วก็ทบทวนเนื้อหาที่จะสอบอีก 1 รอบ ) เป็นเทคนิคอย่างหนึ่งที่ทำให้เราไม่เครียดในการเรียน

เทคนิคที่ 4 อ่านจบหน่วยไหนต้องทำสรุปและวิเคราะห์เนื้อหา บางท่านอาจจะบอกอ่านยังไม่ค่อยเข้าใจเลย แล้วจะสรุปยังไง ให้วิเคราะห์อีกงงไปใหญ่ แต่อย่าลืมว่าแต่ละหน่วยเขาจะให้ไกด์ไลน์มา หรือแนวทางในการเรียนรู้ ก็คือจุดประสงค์การเรียนรู้นั่นเองเพราะจุดประสงค์การเรียนรู้คือสิ่งที่ทางอาจารย์ อยากให้นักศึกษารู้และให้เข้าใจ และข้อสอบก็จะออกตามจุดประสงค์การเรียนรู้ ถ้าเราอยากทำข้อสอบได้เราต้องตอบคำถามจุดประสงค์การเรียนรู้ให้ได้ แปรจุดประสงค์ให้เป็นคำถามและเอาเนื้อหาในหนังสือมาตอบ ก็คือทำสรุปย่อนั่นเอง ยกตัวอย่างบางหน่วยอาจจะมี 150 หน้า แต่เราสรุปตามจุดประสงค์การเรียนรู้เหลือ 10 หน้า แล้วเวลาใกล้สอบเราก็นำสรุปย่อนี้มาอ่านอีกครั้งหนึ่ง หรืออ่านหลายๆครั้งถ้ามีเวลา อ่านสรุปแล้วงงไม่แน่ใจที่มาที่ไปก็มาดูเนี้อหาสาระรายละเอียด ในหนังสือได้อีก

เทคนิคที่ 5 บันทึกสรุปย่อเป็น MP3 ไว้ฟัง ผมเป็นคนหนึ่งที่ต้องบอกว่าส่วนตัวขี้เกียจอ่านหนังสือ ถ้าอ่านไปแล้วก็ไม่อยากอ่านซ้ำอีกรอบ ผมก็จะนำสรุปที่ทำมาอ่านใส่เครื่องเล่น MP3 แล้วเปิดฟัง อาจจะฟังช่วงขึ้นรถไปทำงาน ไปต่างจังหวัด นอนฟัง บางครั้งก็สลับกับการฟังเพลงบ้าง จะทำให้เราจำเนี้อหาได้ดียิ่งขึ้น เมื่อก่อนเรียนกฎหมายต้องใช้ความจำมากก็เลยอ่านใส่เครื่องบันทึกฟังก่อนนอนคือหลับก็ยังฟังอยู่ใช้ได้ผลแฮะ พอตอนสอบจำได้แม้กระทั้งมาตรา ตัวเลข จำนวน ตอนทำข้อสอบยังงงตัวเองเลยว่าจำไปได้ยังไง ก็ถือว่าเป็นเทคนิคที่น่าสนใจครับ

เทคนิคที่ 6 ทบทวนทำแบบฝึกหัดและแบบประเมินก่อนเรียนหลังเรียน การที่เราทำและทบทวนจะช่วยในแง่การคิดและวิเคราะห์ตาม หลายครั้งที่ข้อสอบจะเอามาจากแบบประเมินก่อนและหลังเรียน แต่อาจจะเปลี่ยนคำถาม หรือคำตอบ แต่เนี้อหาจะคล้ายกัน

เทคนิคที่ 7 สอนเสริมต้องดู วิชาไหนถ้ามีการสอนเสริมจะมีประโยชน์มากควรจะหาโอกาสดูเช่นสอนเสริมผ่านอินเตอร์เน็ต เราจะได้ความรู้ใหม่ และอาจารย์ก็อาจจะบอกแนวข้อสอบ แต่เราควรเตรียมตัวก่อนคือรู้ว่าจะสอนเสริมเรื่องอะไรและควรดูหนังสือล่วงหน้า เพื่อจะได้เข้าใจดียิ่งขึ้น พยายามทำโนตย่อหรือทำสรุปสอนเสริม จะเป็นประโยชน์ในการสอบมาก

ก่อนจบขอเสริมอีกเรี่องหนึ่งคือ หลักการใช้ อิทธิบาท4 หรือหลักธรรมที่นำไปสู่ความสำเร็จ มาประยุกต์ในการเรียน ได้แก่ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา 

ฉันทะ = มีความพอใจมีใจรักในการเรียน และชอบที่จะเรียนวิชานี้ เช่นผมชอบวิชาอาชีวอนามัยและความปลอดภัยเพราะรู้สึกว่ามีประโยชน์ได้ช่วยเหลือตัวเอง ครอบครัว และเพื่อนที่ทำงาน ก็จะเกิดความรักและอยากที่จะเรียน 

วิริยะ = เมื่อมีความรักในการเรียนแล้วจะมีวิริยะตามมาคือ ความพากเพียร ขยันในการดูหนังสือ เพราะใจเรามีความชอบยิ่งดูก็รู้สึกได้ประโยชน์ เป็นความรู้ที่ดี ได้นำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้

จิตตะ = มีความเพียรแล้วเราก็จะต้องมีความเอาใจใส่ ความตั้งใจ สมาธิ ในการดูหนังสือตามมา ก็คือจิตตะ 

วิมังสา = การพินิจพิเคราะห์ หรือความเข้าใจ ทำความเข้าใจกับเนี้อหาในการเรียน คือใช้ปัญญาคิดตามไม่อ่านลวกๆเพื่อให้จบ อ่านแล้วคิดตาม

ท่านที่ถามมา  ผมขอตอบในนี้นะ จะได้เป็นประโยชน์กับเพื่อนท่านอื่นบ้าง วันนี้ว่างก็เลยนั่งเขียนบทความ หวังว่าคงไม่เป็นการนำมะพร้าวห้าวมาขายสวน นะครับ

มีประโยคหนึ่ง อาจารย์วันเดิม พูดไว้น่าสนใจ....
ถ้าเป้าหมายหลักของท่านคือต้องการความรู้ 
ท่านจะได้ทั้งปริญญาบัตรและความรู้
ถ้าเป้าหมายหลักของท่านคือต้องการปริญญาบัตร 
ท่านอาจจะได้เพียงใบปริญญาบัตรเท่านั้นโดยไม่ได้ความรู้ไปด้วย 
หรือท่านอาจจะไม่ได้ทั้งสองอย่างเลยก็ได้







ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น